My idea of romance is spending a quite night alone with someone i love. Just being together is enough.

วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2552

กล่าวปิดงาน

มหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งชาติครั้งที่ 6: Linux Empowermentวันอังคารที่ 11 พฤษภาคม 2547ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เรียน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สื่อมวลชน และผู้ร่วมงานทุกท่าน

ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขอ แสดงความยินดีในความสำเร็จของการจัดงาน มหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งชาติครั้งที่ 6: Linux Empowerment ซึ่งเป็นงานที่มุ่งเน้นให้ ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการขนาดย่อม ได้รับทราบถึงทางเลือกใหม่ในการเลือกใช้ซอฟต์แวร์

ในส่วนของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกระทรวงที่มี บทบาทหลักในการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาทางด้านซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส โดยมอบหมายให้ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาด้าน โอเพนซอร์ส รวมทั้งส่งเสริมให้ใช้กันมากขึ้นด้วย

ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ไม่ใช่แค่ซอฟต์แวร์ฟรี ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เป็นกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เพราะเกิดจากการพัฒนาโดยประชาคมขนาดใหญ่ซึ่งมาจากทั่วโลก ไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ ภาษา นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากเอกชนรายใหญ่ๆ หลายราย รวมทั้งภาคการศึกษาคือ สถาบันการศึกษาทั่วโลก ก็ร่วมสนับสนุนด้วย ส่วนความสามารถของซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สนั้น ท่านคงได้รับทราบจากวิทยากรแต่ละช่วง รวมทั้งบูธนิทรรศการด้านนอกแล้ว

ประโยชน์ของการใช้ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สมีหลายประการ คือ

1. ประเทศชาติ ลดการนำเข้าซอฟต์แวร์สำเร็จรูปจากต่างประเทศ ซึ่งแต่ละปีเราต้องจ่ายหลายพันล้านบาทเพื่อซื้อซอฟต์แวร์ ยิ่งถ้าต้องซื้อให้ครบตามจำนวนเครื่องจริงๆ จะต้องใช้เงินปีละนับหมื่น หรือแสนล้านบาท

2. ประเทศชาติได้รับเทคโนโลยีทางด้านซอฟต์แวร์ระดับโลก โดยลงทุนน้อยมาก ด้วยการส่งเสริมให้ศึกษาและร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สให้มากๆ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ได้โดยลัด เพราะเข้าไปศึกษาได้ตั้งแต่วางโครงการ การออกแบบ การเขียนโค้ดโปรแกรม การทดสอบหาข้อผิดพลาด ฯลฯ

3. คนไทยใช้ซอฟต์แวร์ในราคาถูกลง ปัจจุบัน คนไทยต้องซื้อซอฟต์แวร์ยอดนิยมที่ใช้งานกันทั่วไป ในราคาแพงมาก ปีที่แล้วมีการวิจัยของต่างประเทศพบว่า เมื่อเทียบกับ GDP แล้ว โดยเฉลี่ยคนไทยต้องใช้เงินเดือน 3.59 เดือน ถึงจะซื้อซอฟต์แวร์ยอดนิยมชุดนั้นได้ ซึ่งยังดีกว่าบางประเทศ ต้องใช้ถึง 39.76 เดือน ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้เพียง 0.19 เดือนเท่านั้น

4. ลดการผูกขาด ลินุกซ์และซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส มีผลกระทบสูงมาก จนบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ยังยอมรับว่า ลินุกซ์คือคู่แข่งที่สำคัญ ผลที่เกิดขึ้นคือ มีการลดราคาซอฟต์แวร์ชุดพิเศษ สำหรับประเทศในกลุ่มที่ 3 ซึ่งประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งราคาลดลงมาถึง 10 เท่าเลยทีเดียว ปรากฏการณ์นี้ไม่เคยปรากฏมาก่อน

5. การวิจัยและพัฒนาจากภาครัฐและภาคการศึกษา ควรสนับสนุนให้ เผยแพร่ด้วยวิธีโอเพนซอร์ส เพื่อให้ผู้อื่น รับไปพัฒนาต่อได้ ทำให้ไม่ต้องพัฒนาจากศูนย์ ในขณะเดียวกัน ก็มีกลไกที่จะคุ้มครองความเป็นเจ้าของได้ ซึ่งเนคเทคก็เริ่มดำเนินการไปบางส่วนแล้ว

บทบาทการวิจัยและพัฒนาด้านซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นี้ กระทรวงฯ ได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เป็นผู้ดำเนินการโดยได้เริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวกับโอเพนซอร์สมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผลงานเด่นๆ คือ

- ลินุกซ์ซิส (Linux SIS) สำหรับใช้เป็นเซิร์ฟเวอร์ในโรงเรียน เพื่อเชื่อมต่อกับโครงการเครือข่ายโรงเรียน

- ลินุกซ์ทะเล เพื่อการใช้งานบนคอมพิวเตอร์เดสก์ทอป หรือโน้ตบุ๊ก

- ออฟฟิศทะเล สำหรับใช้เป็นซอฟต์แวร์พื้นฐานในสำนักงาน

- พัฒนาลินุกซ์ทะเลสำหรับคอมพิวเตอร์ไอซีทีเพื่อประชาชน ในปีที่ 1 ซึ่งติดตั้งลินุกซ์ทะเลพร้อมใช้ในเครื่องถึงประมาณ 100,000 เครื่อง คิดเป็น 80% ของจำนวนเครื่องทั้งหมด ส่วนในปีที่ 2 ซึ่งกำลังดำเนินโครงการ มี การเลือกใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ทะเล ประมาณ 50%

- โครงการ School Net ผลักดันการเรียนการสอนในห้องเรียน โดยจัด อบรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส 26 โรงเรียน ผลคือ มี 18 โรงเรียน สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้จริง

- สนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มองค์กร หน่วยงาน และบริษัทเอกชนเกี่ยวกับโอเพนซอร์ส เพื่อก่อตั้งสมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย

- จัดกิจกรรมส่งเสริมนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ให้สนใจระบบปฏิบัติการลินุกซ์ และการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ทำงานได้บนลินุกซ์ โดยจัดประกวดแข่งขันติดตั้งระบบปฏิบัติการลินุกซ์ และประกวดการพัฒนาซอฟต์แวร์บนลินุกซ์ ซึ่งจะจัดทุกปี

- สนับสนุนโครงการโรงเรียนในฝัน โดยจัดหาเครือข่าย เซิร์ฟเวอร์ ผู้ดูแลระบบ เพื่อให้บริการเว็บโรงเรียนต้นแบบ 921 โรง และกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาลินุกซ์ซิสรุ่นใหม่ เพื่อเป็นเซิร์ฟเวอร์ต้นแบบ สำหรับใช้ในสถานศึกษาโดยเฉพาะด้วย

สุดท้ายนี้ ผมขอของคุณทุกท่านที่ช่วยในการจัดงานมหกรรมซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สแห่งชาติ ครั้งที่ 6 นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ ได้แก่ บริษัท แอปเปิ้ล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไอซ์ โซลูชั่น จำกัด หน่วยวิจัยภาษาศาสตร์คำนวณ สมาคมสมาพันธ์โอเพนซอร์สแห่งประเทศไทย และอีกหลายๆ หน่วยงานที่ร่วมนำผลงานมานำเสนอในงานนี้

และขอบคุณผู้ที่มาร่วมงานทุกท่าน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นับจากวันนี้ไป คนไทยจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์โอเพนซอร์อย่างถูกต้อง มีซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สที่หลากหลายและมีคุณภาพใช้ และใช้กันมากขึ้นต่อไป

ขอบคุณครับ

คำปราศรัย

คำกล่าวตอบรับรางวัลนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการภาครัฐ ปี ๒๕๔๘วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศฟิลิปปินส์ เมืองมะนิลา

ท่านประธานศาลฏีกา คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลรามอนแมกไซไซ เพื่อนผู้รับรางวัล และแขกผู้มีเกียรติทุกท่านย้อนกลับไปในวันนี้เมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว ในคำกล่าวตอบรับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการภาครัฐของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณพ่อของผม ได้เอ่ยถึง ?ใจ? น้องชายคนเล็กของผมซึ่งขณะนั้นอายุ ๑๒ ปี และเป็นนักสะสมแสตมป์ คุณพ่อเล่าว่า ใจได้หยิบยกเอาคำพูดหนึ่งของประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซที่ปรากฏในแสตมป์ที่ระลึกมาบอกให้คุณพ่อได้รับทราบ คำพูดนั้นกล่าวไว้ว่า ?ข้าพเจ้าเชื่อว่า คนที่ได้โอกาสน้อยในชีวิต ควรได้รับโอกาสพิเศษในทางกฎหมาย?

ในวันนี้ ผมก็มีอีกเรื่องที่อยากจะเล่าเกี่ยวกับใจ? ซึ่งผมเพิ่งทราบเมื่อไม่นานมานี้ นั่นคือ หลังจากที่ใจได้รับการแจ้งว่า ชื่อของผมอยู่ในกระบวนการพิจารณารางวัลนี้ ใจได้เสนอว่า มันน่าจะดีกว่าถ้าไม่ใช่ผม แต่เป็นทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ได้รับการเสนอชื่อแทน ในประเด็นนี้ผมเห็นด้วยกับน้องผมอย่างยิ่ง

สมชาย นีละไพจิตร เป็นประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และเป็นทนายซึ่งสละตัวเองเพื่อช่วยเหลือชาวมุสลิมทั้งหลายที่ต้องตกเป็นจำเลย ซึ่งมักเป็นคนที่?ได้โอกาสน้อยในชีวิต? เหมือนอย่างที่รามอน แมกไซไซกล่าวถึง และในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๗ เป็นวันที่ทนายสมชายต้องเสียสละอย่างถึงที่สุด เขาถูกลักพาตัวออกไปจากรถยนต์ของเขาในพื้นที่กรุงเทพฯ และหายสาบสูญไป เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่เขาได้เริ่มรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอให้ยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนใต้ และเพิ่งร้องเรียนต่อกรรมาธิการหนึ่งของวุฒิสภาเพื่อขอให้สอบสวนกรณีที่ตำรวจถูกกล่าวหาว่า ข่มเหงและทรมานผู้ต้องสงสัยห้าคนซึ่งเป็นลูกความของเขาเพื่อให้สารภาพตามข้อกล่าวหา แม้ล่าสุดจะมีการจับกุมและดำเนินคดีกับตำรวจห้านายในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายสมชายโดยคดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล แต่ก็คงจะเป็นไปได้ยากที่ผู้บงการที่อยู่เบื้องหลังการหายตัวไปของทนายสมชายจะถูกเผยตัวออกมาในอนาคตอันใกล้นี้

น่าเสียดาย ที่มูลนิธิรามอน แมกไซไซไม่อนุญาตให้เสนอชื่อผู้ที่คาดว่าเสียชีวิตแล้วเพื่อเข้ารับการพิจารณารางวัล และด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงอยู่ที่นี่ และได้รับเกียรติอย่างสูงยิ่งในวันนี้ ดังนั้นในประการแรกผมจึงขออุทิศรางวัลนี้ให้แก่ทนายสมชายและครอบครัวของเขา

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของประเทศไทย ได้ให้การรับรองในเรื่องสิทธิ และเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยของบุคคลและชุมชน ไม่แพ้มาตรฐานของประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ทั่วโลก แต่แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะใช้มาแล้วเป็นเวลาแปดปี ดูเหมือนประเทศไทยยังเกิดกรณีที่เลวร้ายในด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งกรณีการสูญหายไปของทนายสมชายเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง

รัฐธรรมนูญของเรารับรองสิทธิของชุมชนที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเขา และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาความเห็นอย่างยุติธรรมในกรณีที่ชุมชนอาจได้รับผลกระทบจากโครงการใดๆ ทว่า ไม่เพียงแต่สิทธิชุมชนเหล่านี้จะถูกเพิกเฉยมาตลอด แต่ทรัพยากรทางธรรมชาติไม่ว่าที่ดิน ผืนป่า และลุ่มน้ำ ยังถูกแย่งไปจากชุมชนอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น ตั้งแต่ต้นปี ๒๕๔๔ มีผู้นำชุมชนอย่างน้อย ๑๕ คนจากทุกภาคของประเทศถูกลอบฆ่าตาย เพียงเพราะพวกเขาต้องการที่จะปกป้องชุมชนและต่อต้านบุคคลภายนอกที่พยายามเข้ามาแสวงผลประโยชน์แล้วทำลายสิ่งแวดล้อม ผู้นำชุมชนเหล่านี้ไม่เคยได้รับการคุ้มครองหรือแม้แต่การยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งที่ผลงานของเขาเป็นประโยชน์ทั้งต่อชุมชนและต่อสังคมโดยรวม และในแทบทุกกรณี ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการลอบสังหารไม่เคยได้รับการลงโทษ ฉะนั้นจึงมีความสำคัญยิ่งที่ผมควรจะต้องอุทิศรางวัลนี้ให้แก่ผู้นำชุมชนที่กล้าหาญและเสียสละเหล่านั้น

นับแต่ปี ๒๕๔๗ ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น มีเหตุการณ์ฆ่ารายวันโดยผู้ก่อการร้ายกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนในพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกัน มีรายงานมากมายที่ชี้ว่ามีตำรวจและทหารบางส่วนที่ปฏิบัติต่อชาวมุสลิมในพื้นในลักษณะที่ขัดต่อหลักนิติธรรม โดยมีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการอุ้ม การฆ่า และการทรมาน ข่าวเหล่านี้ทำให้ประชาชนในพื้นที่จำนวนมากเกิดความไม่พอใจและไม่ไว้วางใจต่อหน่วยงานด้านความมั่นคง ยังมีเหตุการณ์ที่น่าสงสัยเกี่ยวกับการตายหมู่ของสมาชิกทีมฟุตบอล ๑๙ คนที่อำเภอสะบ้าย้อยในเดือนเมษายน ๒๕๔๗ และอีกหกเดือนต่อมายังมีกรณีของประชาชนอีก ๗๘ ชีวิตที่อยู่ในฝูงชนที่ชุมนุมที่อำเภอตากใบ และต้องเสียชีวิตไปในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมตัวของทหาร ก็เป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนขวัญอย่างยิ่ง สร้างความไม่สบายใจแก่ทุกคนที่เคารพในคุณค่าต่างๆ ที่เป็นรากฐานแห่งรัฐธรรมนูญของประเทศของเรา

ผมจึงขออุทิศรางวัลนี้ให้แก่ทุกๆ คนที่ทำงานเพื่อความสงบสุขและความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงสมาชิกทุกคนของคณะกรรมการสมาฉันท์แห่งชาติ ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน เจ้าของรางวัลแมกไซไซเป็นประธาน

ผมยังต้องการอุทิศรางวัลนี้ให้แก่นักเคลื่อนไหวด้านประชาสังคมทุกคน ไม่ว่าจะสังกัดเอ็นจีโอหรือองค์กรภาคประชาชนที่ยังยืนหยัดทำงานภายใต้สถานการณ์ที่ยากลำบาก เพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน เพื่อเสริมสร้างพลังและความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ไร้อำนาจในสังคม และเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างเป็นธรรม ทั้งนี้รวมถึงเพื่อนๆ ในเครือข่ายของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี / เอดส์

นอกจากนี้ผมขออุทิศรางวัลนี้ให้กับทุกคนที่ร่วมผลักดันให้เกิดเสรีภาพของสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๙ และ ๔๑ รวมถึงนักหนังสือพิมพ์และสื่อทั้งหลายที่ดำรงตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณทางวิชาชีพสื่อ โดยการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและไม่หวั่นไหวจากการถูกคุกคามในทุกรูปแบบ รวมถึงอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวของไอทีวี ผู้จัดรายการวิเคราะห์ข่าวทางวิทยุบางคน และนักหนังสือพิมพ์ส่วนหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่อย่างสุจริต และรวมถึงนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อที่ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายสูงกว่ารายได้ทั้งปีของเธอถึงพันเท่าร่วมกับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

สุดท้าย แต่สำคัญไปไม่ยิ่งหย่อนเลย ผมอยากจะอุทิศรางวัลนี้ให้กับเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาทุกคน ที่ได้ทำหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัดตามคำปฏิญาณของตน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม และโดยยึดมั่นในหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ท้ายนี้ ผมขอแสดงความรู้สึกซาบซึ้งใจอย่างยิ่ง ที่มูลนิธิรามอน แมกไซไซ ได้ให้โอกาสผมรับรางวัลอันมีเกียรตินี้ แทนเพื่อนคนไทยจำนวนมากมายที่ได้ยืนหยัดร่วมกันเพื่อพยายามทำให้ประเทศไทยของเราเป็นสังคมที่มีความน่าอยู่มากขึ้นสำหรับประชาชนทุกๆ ส่วน.

คำกล่าวเปิดงาน

คำกล่าวประธานพิธีเปิดกีฬานักเรียน ปี 2551

กล่าวประธานในพิธีพิธีเปิดการแข่งขันกีฬานักเรียนของโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ บูรณวิทยา“บูรณเกมส์” ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๑ณ สนามกีฬากลาง ศูนย์กีฬากรมการทหารช่าง ค่ายบุรฉัตร

ขอขอบคุณ คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน ของโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ บูรณวิทยา ที่ได้เชิญข้าพเจ้า มาเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬานักเรียน ของโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ บูรณวิทยา “บูรณเกมส์” ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๑ ในวันนี้

การกีฬานับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กและเยาวชน มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีน้ำใจเป็นนักกีฬา และมีทักษะที่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้

การเป็นนักกีฬาที่ดี จะต้องหมั่นฝึกฝน มีความมานะพยายามอยู่เสมอถึงจะเป็นผู้ชนะได้ แต่ชนะในที่นี้ ควรหมายถึง ชนะใจตัวเอง ชนะใจคู่แข่งขัน และชนะใจคนดู ถึงจะเรียกว่า เป็นผู้ชนะที่แท้จริง

และข้าพเจ้าขอขอบคุณ แทนโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ บูรณวิทยา ที่หลายท่าน หลายหน่วยงาน ได้ให้การสนับสนุน การจัดการแข่งขันกีฬาของนักเรียน ในครั้งนี้ ให้เป็นไปด้วยความสมบูรณ์

ท้ายที่สุดนี้ ข้าพเจ้า ขออวยพรให้การแข่งขันกีฬาของนักเรียน โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ บูรณวิทยา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บรรลุตามวัตถุประสงค์ ทุกประการ

บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว ข้าพเจ้า ขอเปิดการแข่งขันกีฬานักเรียน ของโรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ บูรณวิทยา “บูรณเกมส์” ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๑ ณ บัดนี้.

คำกล่าวรายงาน

ศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร วัฒนกุล
ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ นายกสมาคมฝรั่งเศส (กรุงเทพฯ)ในนามคณะกรรมการจัดงานฉลอง ๖๐ ปี ภาพยนตร์ พระเจ้าช้างเผือก

ท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์
ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฯพณฯ จำลอง ครุฑขุนทด,ฯพณฯ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย Monsieur Christian Prettre และท่านผู้มีเกียรติ

ในนามของคณะกรรมการจัดงานฉลอง ๖๐ ปี ภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ข้าพเจ้า ขอขอบคุณ ฯพณฯ จำลอง ครุฑขุนทด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีรับมอบฟิล์มภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” และการจัดฉาย เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบ ๖๐ ปี ของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ซึ่งเวียนมาบรรจบในคืนนี้

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส ได้แต่งหนังสือนิยายเรื่อง The King of The White Elephant เป็นภาษาอังกฤษ และได้สร้างขึ้นเป็นภาพยนตร์ในชื่อเรื่องเดียวกัน ได้ตีพิมพ์เป็นเล่มและนำออกฉายในปี พ.ศ. ๒๔๘๔

โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง The King of the White Elephant ซึ่งสร้างขึ้นเป็นภาพยนตร์เสียงในฟิล์ม ๓๕ มิลลิเมตร พูดภาษาอังกฤษ ได้ออกฉายเป็นรอบปฐมทัศน์โลกครั้งแรกในวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๔ พร้อมกัน ๓ แห่ง คือ ที่กรุงเทพฯ สิงคโปร์ และนิวยอร์ก

ในโอกาสปีที่ พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็นวาระฉลอง ๑๐๐ ปี ชาตกาลของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้มีความพยายามที่จะอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” โดยจัดหาฟิล์มเป็นฉบับอนุรักษ์เพื่อเก็บรักษาไว้ในหอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร ในฐานะเป็นมรดกภาพยนตร์สำคัญเรื่องหนึ่งของชาติ และขณะเดียวกันเพื่อดำเนินการฟื้นฟูบูรณะฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันหลงเหลืออยู่แต่ฟิล์มที่ได้รับการพิมพ์ย่อเป็น ๑๖ มิลลิเมตร ให้กลับคืนเป็นฟิล์มขนาด ๓๕ มิลลิเมตรดังเดิม ทั้งนี้เพื่อจัดฉายเผยแพร่สู่สาธารณชนอีกครั้ง ในวาระที่ภาพยนตร์ดังกล่าวมีอายุครบ ๖๐ ปี ในวันที่ ๔ เมษายน ศกนี้

คณะกรรมการจัดงานฉลอง ๖๐ ปี ภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” จึงจัดงานนี้ขึ้นโดยได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากบุคคลและองค์กรหลายฝ่าย ได้แก่ ดร.อแล็ง ปาแตล ประธานจัดงาน เทศกาลภาพยนตร์เอเชียแห่งเมืองโดวิลล์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มรณรงค์หาทุนสนับสนุนโครงการนี้ ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส กรุงเทพฯ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๕ ภาษาฝรั่งเศส สายการบินแอร์ฟรานซ์ และสถานเอกอัครราชทูตไทย ปารีส จนสามารถจัดทำฟิล์มฉบับอนุรักษ์เพื่อมอบแก่หอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร และจัดทำฉบับฟื้นฟูเป็น ๓๕ มิลลิเมตร เพื่อจัดฉายฉลองวาระ ๖๐ ปีของภาพยนตร์เรื่องนี้

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังได้รับความสนับสนุนจากบุคคลและองค์กรต่าง ๆ ในการจัดงานในครั้งนี้ได้แก่ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นผู้ปาฐกถาแนะนำภาพยนตร์ อาจารย์เจราร์ด ฟูเกต์ เป็นผู้ประสานงานระหว่างคณะกรรมการฝ่ายไทยและฝรั่งเศส อาจารย์ปยุต เงากระจ่าง เป็นผู้ออกแบบโปสเตอร์ภาพยนตร์ที่ทำขึ้นใหม่ในงานนี้ นายโสพิศ พุทธรักษ์ เป็นผู้ออกแบบและปั้นเหรียญที่ระลึก บริษัทโกดัก (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนฟิล์มภาพยนตร์ในราคาพิเศษ และท้ายสุด บริษัท เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ ซึ่งเอื้อเฟื้อสถานที่จัดงานและจัดฉายภาพยนตร์ในครั้งนี้

บัดนี้ ได้เวลาอันสมควรแล้ว ขอเรียนเชิญท่านประธานกล่าวเปิดงาน และเป็นประธานในพิธีรับมอบฟิล์มภาพยนตร์ และกรุณาเป็นผู้มอบของที่ระลึกแก่ผู้สนับสนุนงานครั้งนี้ด้วย.

วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สารคดี

รู้ไว้ใช่หนักสมอง ฆาตกรต่อนื่อง

สังคมทุกวันนี้มีแต่เสื่อมถอยลงทุกวัน มีแต่เทคโนโลยีเท่านั้นที่เจริญก้าวหน้ารที่เราให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีความล้ำหน้ามากกว่าจิตใจที่ดีงาม จึงทำให้คนเรามีจิตใจที่หดเหี้ยม ทำอะไรขาดความยั้งคิด ใช้กำลังและอารมณ์มากกว่าการใช้ความคิดตัดสินปัญหา ซึ่งเหล่านี้จึงก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมามากมาย โดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรม ซึ่งดูว่ากำลังจะรุนแรงขึ้นทุกที การทำร้ายร่างกาย การฆ่ากันตายนั้น ดูเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับฆาตกรในสมัยนี้ ฆ่าแล้วฆ่ากันอีก จนกลายเป็นฆาตกรรมต่อเนื่องอย่างที่ปรากฏอยู่บนหน้าหนัสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ต้องคอยระวังอย่างยิ่ง มิเช่นนั้นคุณอาจจะกลายเป็น "เหยื่อ" รายต่อไปของ "ฆาตกรต่อเนื่อง" ก็ได้

หลายคนคิดว่าการที่ฆาตกรต่อเนื่องที่ฆ่าเหยื่ออย่างโหดเหี้ยมนั้นต้องมีมูลเหตุจูงใจ เช่นเหยื่อเป็นคนฆ่าคนรักบ้าง แย่งมรดกบ้าง ฆ่าล้างแค้นบ้าง และฆาตกรต่อเนื่องเป็นคนฉลาดหลักแหลม อันตรายสุดๆ ก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่ความจริงแล้วคดีฆาตกรรมต่อเนื่องมันมีมากกว่านั้น เพราะส่วนใหญ่แล้วฆาตกรต่อเนื่องจะเป็นคนมีปมด้อย ไม่ฉลาด อ่อนแอ โรคจิต
แรกเริ่มเดิมที่ ฆาตกรที่ฆ่าคนติดต่อกันหลายๆ คนนั้น เรียกชื่อกันง่ายๆ ว่า"ฆาตกรหลายศพ"(CHAIN MURDERER)

ในปี 1950 นักอาชญาวิทยาจึงหันมาเริ่มใช้คำว่า "นักฆ่าแบบลูกโซ่" (SERIAL MURDERER) ขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาจึงใช่ "ฆาตกรรมหลายศพแบบต่อเนื่อง" (SERIAL MASS MURDER)

ล่าสุดในปี 1974 เจ้าหน้าที่เอฟบีไอจึงหันมาใช้คำว่า "ฆาตกรต่อเนื่อง" (SERIAL MURDER) ขึ้นมาใช้ในที่สุด

คำจำกัดความของคำว่า "ฆาตกรรมต่อเนื่อง" ที่ดีที่สุดถูกบันทึกไว้และตีพิมพ์โดยสถาบันยุติธรรมนานาชาติ (NIJ) ในปี 1988 คือ

"ลำดับการฆาตกรรมสองเหตุการณ์หรือมากกว่านั้น ส่วนใหญ่คนร้ายจะก่อเหตุการณ์ตามลำพัง คดีที่ก่อขึ้นมีช่วงระยะเวลาทิ้งห่างกันตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงไปถึงหลายๆ ปี โดยมีแรงจูงใจทางด้านจิตวิทยาและพฤติกรรของผู้เกิดเหตุ สภาพศพที่พบในที่เกิดเหตุจะสะท้อนให้เห็นความโหดร้ายวิปริตหรือความทารุณกรรมทางเพศ"

ส่วนเอฟบีไอ ให้คำนิยามไว้ในปี 1997 สั้นๆ ว่า ฆาตกรต่อเนื่องคือ

"ฆาตกรรมตั้งแต่สองรายที่เกิดขึ้นหรือมากกว่านั้น โดยเป็นการกระทำผิดที่เวลาต่างๆ กัน โดยมากแล้วจะเกิดจากคนร้ายคนเดียว"

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1983 นิตยสารไทม์บรรยายถึงฆาตกรที่กระทำฆาตกรรมต่อเนื่องว่าเป็น "เผ่าพันธุ์ใหม่ของนักฆ่า"

จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า โรคจิตซึ่งเป็นที่มาของการเกิดการฆาตกรรม แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ

1.กลุ่มโรคจิตเภท

2.กลุ่มโรคอารมณ์แปรปรวน

3.กลุ่มโรควิตกกังวล

กลุ่มโรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นโรคทางจิตเรื้อรังซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ ความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรม ถือว่าเป็นกลุ่มโรคที่พบมากที่สุด โดยอาการคือ หูแว่ว หวาดระแวง และคิดผิดๆ เชื่อผิดๆ เช่น เชื่อว่าตัวเองกลับชาติมาเกิด หรือ ได้ยินเสียงคนต่อว่า ข่มขู่ หรือมาสั่งให้ทำนั่นทำนี่ ซึ่งถือว่า อาการค่อนข้างรุนแรงและมีผลกระทบต่อเจ้าตัวค่อนข้างมาก

ผู้ป่วยจิตเภทที่พบได้บ่อยที่สุดคือชนิดพารานอยด์ หรือหวาดระแวง อาการโดยหลักๆ ของโรคนี้คือ ผู้ป่วยจะมีความรับผิดชอบในเรื่องทั่วๆไปได้บ้าง แต่ในเรื่องของความคิด การกระทำ จะไม่ทราบว่าตัวเองจะทำอะไรและทำไปเพื่ออะไร มีอาการหวาดระแวง ได้ยินเสียงพูดหลอน หรือเสียงสั่งให้ทำบางสิ่งบางอย่าง มักเดินพูดคนเดียวเรื่อยเปื่อย คิดว่าตัวเองเป็นนั่นเป็นนี่ แต่ไม่มีพิษภัยกับใคร อีกประเภทที่น่าสนใจคือ จิตเภทชนิด CATAPONIA ที่จะเกิดความผิดปกติกับกล้ามเนื้อ จะนั่งนิ่งทั้งวัน อยู่ในท่าเดิมๆ คิดสับสนวนไปวนมา

กลุ่มโรคอารมณ์แปรปรวน แบ่งออกได้เป็น 2 โรค คือ โรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์ 2 ขั้ว โดยโรคซึมเศร้าก็จะรู้สึกเบื่อๆ ไม่แจ่มใส หดหู่ ร้องไห้บ่อยๆ นอนไม่ค่อยหลับ เบื่ออาหาร ก็ไม่อยากทำอะไร รู้สึกผิด ไม่อยากมีชีวิต มักมีอาการต่อเนื่องเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่จะมีเหตุจากความผิดหวังและรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า โรคนี้อันตรายตรงที่มีความเสี่ยงสูงที่คนไข้จะฆ่าตัวตาย ส่วนกลุ่มโรควิตกกังวล มักมีอาการเครียด กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ครุ่นคิดแต่เรื่องเดิมๆ

ฆาตกรโรคจิต คือฆ่าแล้วมีความสุข พวกนี้มีความปรารถนาอยากฆ่า อยากที่จะแสดงอำนาจของตัวเองให้เหนือกว่าบุคคลอื่นโดยออกมาในรูปของสัญลักษณ์บางอย่าง เช่นคลั่งโลหิตมนุษย์ คลั่งซากศพ หรือกินเนื้อพวกเดียวกันเอง

ต่อไปนี้เป็นคดีฆาตกรรมที่เกิดข้นในสังคมทั้งยุคปัจจุบันและก่อนทศวรรษ

ฆาตกรต่อเนื่องในประเทศไทย

ส่วนฆาตกรต่อเนื่องในประเทศไทย จนถึงทุกวันนี้ มีฆาตกรต่อเนื่องแค่ 3 คน (ไม่นับรวมมือปืน,เจ้าพ่อ,โจรใต้) คนแรกเป็นฆาตกรต่อเนื่องคนแรกของไทยชื่อ นายกู้เกียรติ เรืองฤทธิ์ หรือ ซีอุยที่เกิดขึ้นประมาณ 50 ปีก่อน เมื่อซีอุยหรือนายซีอุย แซ่อึ้ง ชาวจีนโพ้นทะเลเป็นเจ้าตำรับมนุษย์กินคน และปัจจุบันคือ สมคิด พุ่งพวง วัย 41 ปี ที่สังหารหมอนวดไป 5 ศพ และเคยสร้างความฮือฮาคดีฆาตกรรม นายปรีณะ ลีพัฒนพันธ์ อดีตผู้ว่าจังหวัดยโสธร ซึ่งถูกฆ่าหมกโรงแรมกลางกรุง เมื่อปี 2544

ย้อนรอยคดีบ้านสยองขวัญ : จุดจบฆาตกรต่อเนื่องเมืองผู้ดี

ผ่านมา10 ปีกว่าพอดีสำหรับการปิดฉากคดีฆาตกรรมต่อเนื่องที่สะเทือนขวัญชาวเมืองผู้ดีมากที่สุดและเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดช่วงทศวรรษที่1990

22 พฤศจิกายน 2538 (1995) คือวันที่ศาลมีคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต นางโรสแมรี เวสต์ (Rosemary West) ที่ร่วมมือกับสามี นายเฟร็ด เวสต์ (Frederick Walter Stephen West) ก่อคดีลักพาตัว, ข่มขืน และฆ่าสตรีและเด็กสาวมากกว่า 10 ราย

ที่น่าตกใจคือเหยื่อ 1 ในนั้นถึงกับเป็น ฮีทเธอร์ (Heather) ลูกสาวคนโตวัย 16 ของทั้งคู่ ความสยดสยองจากการฆาตกรรมสะเทือนขวัญที่ยังสยิวขั้วหัวใจคนอังกฤษจนถึงปัจจุบัน ถูกสื่อมวลชนเมืองผู้ดีขุดคุ้ยมารายงานกันทุกครบรอบปีในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งตรงกับช่วงที่ศาลวินเชสเตอร์คราวน์มีคำพิพากษาในคดีของโรส และบุคคลที่นักข่าว นักแต่งหนังสือ หรือแม้แต่พวกนักทำหนังและสารคดี ตามขอสัมภาษณ์ทุกปี จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากมือปราบฆาตกรต่อเนื่องสองผัว-เมียเวสต์คู่นี้

จอห์น เบนเน็ตต์ (John Bennett) อดีตผู้กำกับการแผนกสืบสวน ที่ปัจจุบันมีวัย 60ปี ระอากับการต้องตอบคำถามซ้ำซากแทบทุกปี แถมเรื่องราวชักจะเลยเถิดกันไปใหญ่ในระยะหลัง จึงจับปากกาเขียนหนังสือรวบรวมเบื้องลึกเบื้องหลัง ใช้ชื่อว่า "The Cromwell Street Murders : The Detective"s Story" ซึ่งเป็นชื่อของ "บ้านสยองขวัญ" เลขที่ 25 บนถนนครอมเวลล์ของครอบครัวเวสต์ เป็นปูมบันทึกเรื่องราวและเฉลยปริศนาที่หลายคนยังค้างคาใจ ว่าเพราะอะไรบ้านหลังนี้จึงได้ชื่อว่าบ้านสยองขวัญ?

ลองมาฟังคำบอกเล่าของนักสืบผู้เคาะประตูบ้านฆาตกรต่อเนื่อง และเปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงของคู่ผัว-เมียนักฆ่าโรคจิตกันดู

ถึงจะผ่านพ้นมากว่า 10 ปีแล้ว เบนเน็ตต์บอกว่า กลิ่นศพเน่าที่โชยออกมาจากบ้านหลังนี้และภาพศพเหยื่อที่ถูกแยกชิ้นส่วนอยู่ในสภาพเน่าเปื่อยยังคงติดตราอยู่ในใจ จนทุกวันนี้ก็ยังไม่จางหาย "แม้เวลาจะล่วงเลยมาถึงขนาดนี้ มันยังทำให้ผมเศร้าใจจริงๆ เมื่อหวนนึกถึง...สิ่งที่พวกนั้นทำลงไปมันเหลือเชื่อ" อดีตเจ้าหน้าที่สืบสวนนึกถึงความหลัง "พวกเขา (เฟร็ดและโรสแมรี) เป็นพวกรักสันโดษ จึงเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจจริงๆ"

เกือบ 20 ปี ที่ผัว-เมียเวสต์ได้ล่อหลอกหญิงมากหน้าหลายตาเข้ามายังบ้านสมัยวิกตอเรียที่แทรกตัวอยู่ในอาคารที่ปลูกเรียงเป็นแถวในเมืองกลูเซสเตอร์อันเงียบสงบทางภาคตะวันตกของอังกฤษ จากนั้นก็ทรมาน ข่มขืนและฆ่าเหยื่อเหล่านี้

ชิ้นส่วนศพมากมายถูกพบฝังอยู่ใต้บ้านหลังนี้เอง ทั้งที่ห้องเก็บของใต้ดิน ใต้ห้องน้ำ หรือสำหรับกรณีของฮีทเธอร์ ถูกฝังอยู่ใต้ลานในสวนหลังบ้าน "เป็นคุณจะใช้ชีวิตอย่างปกติ ในบ้านหลังนี้ได้อย่างไร จะจัดปาร์ตี้ ย่างบาร์บีคิว เข้าห้องน้ำ ทั้งที่รู้ว่ามีศพผู้คนซึ่งรวมทั้งลูกสาวของคุณ ถูกฝังอยู่ข้างใต้?"

เหยื่อบางรายถูกพบในสภาพถูกมัด ถูกอุดปาก หรือไม่ก็ถูกเทปกาวพันรอบดวงตาหรือใบหน้า

กลิ่นเหม็นตุของเนื้อมนุษย์เน่าเปื่อยในสภาพชื้นแฉะเป็นสิ่งที่ตามหลอกหลอนเบนเน็ตต์จนถึงทุกวันนี้ "กลิ่นของศพขึ้นอืดกำลังเน่าเปื่อยจะเป็นสิ่งที่คุณไม่มีวันลืมเลยหากได้กลิ่นมัน" อดีตนายตำรวจเกษียณที่เคยต้องใช้เวลาหลายวันสืบสวนคดีในบ้านหลังนั้นกล่าว

บ้านสยองขวัญถูกรื้อถอนและทุบทิ้งไม่นานหลังจากนั้น เพื่อตัดช่องทางของพวกนักล่าที่แห่กันมาหาของที่ระลึกพิลึกพิลั่นจากที่นี่ คดีฆาตกรรมต่อเนื่องคดีนี้ถูกเปิดโปงช่วงต้นปี 2537 เมื่อตำรวจได้เบาะแสใหม่เกี่ยวกับการหายตัวไปของฮีทเธอร์ ลูกสาวคนโตในตระกูลเวสต์ ที่สาบสูญไปเมื่อ 7 ปีก่อน เพราะสะดุดใจคำบอกเล่าของพวกญาติพี่น้องบางคนที่เข้ารับการดูแลชั่วคราวจากรัฐ จึงเริ่มการค้นหาอีกครั้ง

เด็กวัยรุ่นหลายรายเล่าให้พวกนักสังคมสงเคราะห์ฟังถึง "โจ๊กประจำครอบครัว" ที่ว่า "ฮีทเธอร์อยู่ใต้ลานบ้าน" นั่นเองตำรวจจึงเริ่มต้นขุดสวนหลังบ้านของเวสต์ และทำให้เฟร็ดจนมุมจนต้องมายอมรับโดยดุษณีว่าเป็นคนฆ่าลูกสาวตัวเองกับมือ เฟร็ดยังพยายามปกป้องเมียโดยบอกว่าโรสไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการฆาตกรรมพวกนี้ เบนเนตต์เล่าถึงการสอบปากคำผู้ต้องหารายนี้ว่า "เขายังยืนกรานว่าโรสแมรีไม่รู้เรื่องอยู่นั่นแหละ จนกระทั่งในการสัมภาษณ์ครั้งสุดท้าย ที่เขาเริ่มแนะว่าโรสแมรีอาจเกี่ยวข้องด้วย"

เบนเนตต์เดาว่าสิ่งที่เปลี่ยนใจเฟร็ด มาจากคำบอกเล่าของตำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศของโรส ซึ่งเฟร็ดไม่เคยรู้มาก่อน "การที่ภรรยามีความลับกับเขาถือเป็นเรื่องช็อก หลังจากพวกเขาเคยร่วมกันปกปิดความลับ (เรื่องฆาตกรรม) มาด้วยกัน"

เฟร็ด ผู้สามี ถูกตั้งข้อหาฆาตกรรมรวม 12 กระทง และเขายอมรับว่าได้ฆ่าเหยื่อบางรายจริง แต่เขาชิงผูกคอตายในห้องขังในวันปีใหม่ก่อนจะถูกนำตัวขึ้นศาล ส่วนโรสซึ่งไม่ยอมรับสารภาพ เจอข้อหาฆาตกรรม 10 กระทงรวมทั้งคดีฆ่าลูกสาว ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตทั้ง 10 กระทง ทุกวันนี้โรสยังชดใช้ความผิดอยู่ในเรือนจำบรอนซ์ฟิลด์ที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ ตั้งอยู่ใกล้เขตแอชฟอร์ด เมืองมิดเดิลเส็กซ์

เบนเน็ตต์บรรยายถึงลักษณะนิสัยของโรสว่า เธอเป็นคน "เย็นชา ไม่มีความอบอุ่นแม้แต่น้อย"

โรสไม่เคยหลั่งน้ำตาให้แก่เหยื่อของเธอ ไม่รู้สึกรู้สากับความเจ็บปวดของครอบครัวที่สูญเสียสมาชิกไปเพราะการกระทำของเธอและสามี "ตอนที่เธอถูกตัดสิน ผมคิดว่าตอนนั้นเธอร้องไห้นะครับ แต่เธอร้องไห้ให้ตัวเอง" เบนเน็ตต์

"ทุกวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ แล้วเด็กสาวและผู้หญิงพวกนั้นตายอย่างไร" เบนเน็ตต์ซึ่งเริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้เมื่อ 2 ปีก่อน (2003) แม้ว่าก่อนหน้าจะเคยยืนยันว่าไม่คิดจะเขียนหนังสือหากินกับคดีนี้ บอกว่าเขาไม่ได้พูดคุยกับครอบครัวของเหยื่อเลย และที่สำคัญ เบนเน็ตต์ก็ยังสงสัยอยู่ว่าโรสจะยอมปริปากเล่าความลับดำมืดที่ซ่อนอยู่ก้นบึ้งหัวใจอันเย็นชาของเธอหรือไม่.

ที่สุดของคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง มีหลายครั้งค่ะที่มีคนเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับที่สุดของคดีฆาตกรรมต่อเนื่อง เช่น

ฆาตกรต่อเนื่องในประวัติศาสตร์

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า แจ๊ค เดอะ ริปเปอร์ คือฆาตกรในศตวรรษที่ 19 เป็นฆาตกรต่อเนื่องคนแรกที่บันทึกรายอักษรนั้นเป็นคำตอบที่ผิดอย่างร้ายแรงค่ะ เพราะฆาตกรต่อเนื่องคนแรกที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์คดีแรกนั้นเกี่ยวข้องกับนักวางยาหญิงชื่อ โลคัสตา LOCUSTA เธอถูกตัดสินประหารชีวิตโดยจักรพรรดิโรมัน "กัลบา" .ในคศ.69 ส่วนผู้ชาย ตำแหน่งนี้เป็นของ เศรษฐีผู้มั่งคั่งชาวเยเมน ซู ซีนาเตอร์(ZU SHENATIR)ที่ชอบหลอกล่อเด็กผู้ชายให้มาที่บ้านด้วยการแจกอาหารและให้เงิน จากนั้นก็ทำอนาจารและพอชื้นใจแล้วก็จับโยนหน้าต่างชั้นบน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเขาฆ่าคนเป็นจำนวนเท่าไหร่กันแน่ แต่ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าฆาตกรจอมโหดนี้ได้เสียชีวิตเพราะถูกเหยื่อแทงตายเพื่อป้องกันตัว

ครอบครัวฆาตกร

ซอว์นี บีน เป็นชาวสก็อต เขาและเมียอาศัยอยู่ในถ้ำบนชายฝั่งกัลป์โลเวย์โคสต์ เขาและเมียอ้วนอ้วนสมบูรณ์แข็งแรงมากเพราะกินเนื้อคน เหยื่อก็คือคนที่เดินทางไปในบริเวณนั้น ภายในเวลา 25 ปี ครอบครัวนี้ได้เติบโตขึ้น เขามีลูกชาย 8 คน ลูกสาว 6 คน หลานชาย 18 คน และหลานสาว 14 คน ทั้งหมดล้วนเป็นมนุษย์กินคน ออกล่าเฉยื่อพร้อมกันเป็นทีม กว่าที่มือกฎหมายจะมาถึง บีนและครอบครัวอันใหญ่โตของเขา ก็ฆ่าคนไปกว่า 1,000 คน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 15

คดีฆาตกรรมต่อเนื่องหมู่คณะ ที่เกิดจากประเพณีและลัทธิต่างๆ

ในศตวรรษที่ 11 ที่เปอร์เซีย (ปัจจุบันคืออิหร่าน) มีกลุ่มผู้ร้ายนักฆ่าเป็นสมาชิกของกลุ่มมุสลิมนักรบรับจ้างในสงครามครูเสดใช้ชื่อกลุ่มตามรูปลักษณ์ของตัวเองว่า กลุ่มลัทธิโอสถหลอน (HASHASHIN) นักฆ่ากลุมนี้เห็นการฆาตกรรมเป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อมอบถวายแก่องค์เทพเจ้าและผู้ครองพิภพที่เรียกว่า "ผู้เฒ่าแห่งขุนเขา"กลุ่มนี้ถูกทำลายล้างในปี 1256 โดยชาวมองโกลภายใต้การนำของฮูลากู หลานปู่ของจอมจักรพรรดิ เจงกิสข่าน ซึ่งครั้งนั้นมีสมาชิกของลัทธิถูกสังหารไป 12,000 คน แต่นักสังเกตการณ์ของฝรั่งเศสบันทึกว่ายังมีสมาชิกของลัทธินี้อยู่มาจนถึงปีศตวรรษที่ 19

ในประเทศอินเดียต้นศตวรรษที่ 13 มีกลุ่มผู้นับถือศาสนาฮินดูแยกตัวออกไปมาปฎิบัติพิธีกรรมสรรหาคิดค้นกันขึ้นมาเอง แล้วตั้งชื่อกลุ่มว่า "ธัค"(THAG) หรือเป็นที่รู้จักกันดีในภาษาฮินดูว่า "ฟานซิการ์"(หมายถึงบ่วงรัดคอ เพราะพวกนี้ชื่อชอบที่จะรัดคอเหยื่อด้วยผ้าผืนยาวที่สมาชิกแต่ละคนจะถูกไว้รอบเอว
พวกลัทธินี้นับถือบุชาเจ้าแม่กาลี เทพเจ้าแห่งการทำลายล้างของชาวฮินดู นอกจากจะฆ่าคนแล้วพวกลัทธินี้ก็ยังมีพิธีกรรมทรมานตัวเอง ซึ่งผู้ศรัทธาจะถูกโบยตีและทำทารุณอย่างโหดร้ายโดยเหล่านักบวชในลัทธิ หรือไม่ก็ถูกเกี่ยวด้วยตะขอขนาดใหญ่เขาไปในเนื้อสดๆ ในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มจะแสดงความปลื้มปิติยินดีเป็นล้นพ้นและเปล่งเสียงออกมาพร้อมๆ กันว่า
"ชัยชนะแก่พระแม่กาลี"

พวกธัคออกอาละวาดสังหารเหยื่อตามวิธีการของลัทธิอำมหิตมายาวนานถึง 600 ปี ก่อนที่จะถูกปราบปรามโดยกองกำลังทหารอังกฤษ ซึ่งระบุว่ามีสมาชิกธัค 4,500 คนถูกตัดสินว่ากระทำความผิดในคดีอาชญากรรมระหว่างปี 1830 ถึง 1848 ในจำนวนนี้ 110 คนถูกตัดสินให้ประหารชีวิต ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ธัคกี บูห์ราม (THUGGE BUHRAM) ซึ่งฆ่าคนไปถึง 931 คน ก่อนถูกจับได้ในปี 1812 รวมแล้วเหยื่อที่ถูกลัทธิสังหารมีมากกว่าล้านคน

ฆาตกรรมต่อเนื่องในยุโรป

จิส เลส เดอ เรส (GILLES DE RAIS)เป็นฆาตกรผู้ชายที่ฆ่าคนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เกิดในปี 1404 เป็นขุนนางมั่งคั่งยุคยุโรป เป็นขุนพลนักรบคู่คิดเคียงข้างวีรสตรีชาวฝรั่งเศส โจน ออฟ อาร์ค หลังจากที่เขากลับบ้าน เขาวางอาวุธ เขาเก็บตัว อุทิศตนกับการเล่นแร่แปรธาตุ จนกระทั้งเขาค้นพบความลับของวัตถุพิเศษที่สามารถเปลี่ยนแร่ธาตุเป็นทองคำได้ วัตถุนี้หาได้ไม่ใกล้ไม่ไกล เพราะมันอยู่ในโลกหิตมนุษย์นั้นเอง

เขาได้ทำการทดลองที่พิลิกพิลั่นนี้ ผลคือเขาสังหารเด็กไปราว 200-300 คน ด้วยวิธีที่พิลึกพิลั่นต่าง ๆ ที่สยดสยอง เช่นระหว่างที่บีบคอเหยื่ออยู่นั้นก็บังคับให้เหยื่อที่ไม่ถึงคิวมรณะร้องประสานเสียงร้องของเด็กที่เด็กนั้นกำลังจะตายด้วย

ในปี 1440 จิลเลสถูกจับกุมในข้อหามีมารเข้าครอบงำ และสังหารเด็กมากมายถึง 14 ปี เขาถูกตัดสินแขวนคอ และตายก็เอาไปเผา ด้วยอายุ 36 ปี แม้เขาจะตายนานแล้ว แต่ชื่อเสียงของเขาได้ถูกนำไปเรียกเป็นนามอมตะว่า "บลูเบียร์ด" (BLUE BEARD) ซึ่งเรียกตามลักษณะหนวดเคราที่มีน้ำเงิน ดำ ในเวลาต่อมาชื่อนี้ถูกนำไปใช้เรียกอาชญากรผู้สังหารภรรยาหลายๆ คน

จนถึงปัจจุบัน จำนวนฆาตกรต่อเนื่องและเหยื่อผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหลือเชื่อและน่าทึ่ง เจ้าหน้าที่ในสหรัฐอเมริกาได้บันทึกสถิตไว้ในปี 1900-1959 เฉลี่ยแล้วทั้งประเทศเกิดคดีฆาตกรรมต่อเนื่องขึ้น 2 คดี ในทศวรรษ 1970-1985 อัตราการเกิดคดีฆาตกรต่อเนื่องอยู่ที่ 3 คดีต่อเดือนและเรื่อยมาจนถึงทศวรรษ 1990 เรียกได้ว่าเป็นยุคของอุตสาหกรรมการฆาตกรรมต่อเนื่องก็ว่าได้เนื่องจากว่ามีฆาตกรต่อเนื่องเกิดขึ้นถึง 800 คน เพียงแค่ใน 2-3 ทศวรรษเท่านั้น

หากเรามองย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยทศวรรษต่าง ๆ จนถึงปัจจุบันนี้ เราก้จะเห็นว่า เกิดเหตุฆาตกรรมขึ้นอย่างมากมายทั้งในต่างประเทศและภายในประเทศไทยเอง เราลองมองหาสาเหตุว่ามันเกิดจากอะไร สอบเค้นจากปากของฆาตกรเอง ทั้งได้ความจริงที่ว่า ชอบฆ่าเหยื่อ เห็นผู้อื่นทรมาณแล้วมีความสุข เราก็จะคิดแต่ว่า คนนี้เป็นโรคจิตต่าง ๆ นา ๆ และเราก็จับเขาไปใว้เรือนจำรอรับคำพิพากษา และรับโทษต่อไป

แต่สิ่งที่เราลืมนึกถึงก็คือ คนประเภทนี้ หากได้ชื่อว่าเป็นโรคจิต ย่อมหมายถึง ต้องเป็นคนป่วย แน่นอนเขาป่วย!!! แล้วทำไมถึงไม่แก้กันที่ต้นเหตุเล่า ดูว่าเขาพื้นเพมายังไง สภาพครอบครัวหรือจิตใจเป็นมายังไงแล้วก็ช่วยกันแก้ต่อไป ถึงเขาเหล่านั้นจะต้องได้รับโทษอย่างสาสมกับสิ่งที่เขาทำกับเหยื่อก็ตาม แต่เมื่อมีปัญหาอะไรก็แล้วแต่ เราส่วนใหญ่มักมองข้ามสาเหตุของมัน และตัดสินที่ปลายเหตุ เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็มักจะเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิม ซ้ำไปซ้ำมา จนเป็นวงเวียนเดิม ๆ ที่เดินหมุนกันเป็นวงกลม

เราต้องช่วยกันแก้ไขไม่ใช่กำจัด ลองแก้กันดูสักครั้ง แล้วเราจะเห็นว่าคนที่เป็นฆาตกรอาจไม่ใช่คนโรคจิตที่อยากจะฆ่า แต่อาจทำเพราะเมื่อยังเด็กถูกแรงกดดัน ทารุณทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทางเพศ และจากภาพการทารุณกรรมได้รับฝังลึกอยู่ในใจด้วยความเครียดแค้น จึงทำให้มีผลต่อพฤติกรราการทารุณเหยื่อที่ไม่มีทางสู้ เพื่อสนองความต้องการของตนเองในที่สุด